Tuesday, February 8, 2011

^^^^พยาบาล delivery^^^^

From เรืองเล่าดีๆจากหน่วยบริการ


From animation


หลายคนคงแปลกใจ..ทำไมต้องเป็นพยาบาลdelivery
เพราะว่าหน้าที่พยาบาลต้องให้การบริการแบบองค์รวม 4 มิติ
โดยเฉพาะงานส่งเสริมและป้องกัน
ทุกคนล้วนแล้วต้องใช้ทักษะและกลเม็ดเด็ดพลายทุกรูปแบบ ในการดูแลผู้ป่วยและญาติ
ต้องใช้ทั้งน้ำเย็นและน้ำร้อน..ต้องยกเหตุผลชักแม่น้ำทั้ง5มาให้ฟัง
เพราะว่าสมัยนี้คนเรามีความรู้และการค้นหาความรู้ทางอินเตอร์เน็ตมากขึ้นความรู้ใหม่ๆ
เวลาที่คนไข้ดื้อมากๆทำให้พยาบาลอย่างเราท้อ..
คนไข้...แบบนี้ก็มีด้วยไม่สนใจสุขภาพตัวเองเลย..

From โครงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ


พยาบาลที่ต้องรับผิดชอบคนไข้ในแผนกผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาล
คนไข้เดินเข้ามารับบริการวันละเป็นพันๆคน...
จนบางครั้งOPD ล้นจะบอกว่าซักประวัติแล้วคุณไปหาที่นั่งรอก่อนนะคะ
ก้ต้องเปลี่ยนเป็นกรุณาเดินถอยหลังออกไป10ก้าวค่ะ
เพราะคนไข้ยืนจนล้นจะไปถึงหน้าห้องตรวจของแพทย์แล้ว..

ในการจัดทำโครงการแต่ละครั้งต้องมีการประชาสัมพันธ์ล่วงหน้า
ชักชวนคนไข้ให้มารับการอบรมและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ
ในโครงการย่อยๆหลายๆโครงการของทีมสหสาขาวิชาชีพในโรงพยาบาล
เพราะทุกคนมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ อยากให้ทุกคนมีสุขภาพดีแข็งแรง และอยู่กับโรคที่เป็นอย่างมีความสุข

From โครงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ


From 100NCD90


ในการทำงานต้องมีการติดต่อสื่อสารกันโดยเฉพาะคนที่มีหน้าที่จัดหาหรือประชาสัมพันธ์อย่างเรา
เพื่อให้คนไข้เข้ามาได้รับความรู้และเข้ามาสมัครเเป็นสมาชิกชมรมต่างๆเช่น เพื่อนโรคไต
ชมรมคนรักษ์หัวใจ(ความดันโลหิตสูง) ชมรมลดเสี่ยงเลี่ยงโรค(DPAC)
คนไข้บางคนก็ชอบที่จะมาทำกิจกรรมกับทางโรงพยาบาล
อาจเเป็นเพราะอยู่บ้านเฉยๆเหงาไม่มีเพื่อน อยากได้รับความรู้ในการดูแลตัวเอง
หรือแม้แต่ลูกๆสมัครให้พ่อแม่มารรับความรู้เพราะดื้อเหลือเกินไม่ยอมลดเเค็ม หรือขนมหวาน
เวลาจะมาหาหมอเพื่อตรวจเลือดตอนเช้าก่อนวันเจาะเลือดก็จะอดอาหารหรือขนมหวานที่ชอบก่อนถึงวันเจาะเลือด2-3วันเสมอ
เพราะกลัวหมอหรือพยาบาลจะตำหนิว่า..น้ำตาลในเลือดเดือนนี้ขึ้นอีกแล้ว!!!!

From 100NCD90



จากที่เราต้องให้เบอร์โทรศัพท์ไว้สำหรับการติดต่อในการทำกิจกรรมหรือโครงการต่างๆ
เราต้องเลือกที่จะให้เบอร์คนไข้ไว้ติดต่อสอบถาม..

จึงเกิดของคำว่า..พยาบาลdelivery..

จากการที่ได้ร่วมทำกิจกรรมด้วยกัน จัดอบรมจนเกิดความคุ้นเคยกันในบางคน
จนเหมือนแฟนพันธ์แท้กันไป..เวลาจะชวนให้มาร่วมงานหรือ
จัดกิจกรรมกันในโรงพยาบาลจะมาทุกครั้งและแถมชักชวนคนบ้านใกล้ๆกันชวนกันมาสมัคร
บางคนไม่รู้จักก็จดชื่อหรือโทรมหาเพื่อสมัครเข้าร่วมกิจกรรมที่จัดขึ้น

แต่บางทีการแจกเบอร์ให้คนไข้..ก็ทำให้คนไข้โทรมาหาในยามที่มีปัญหาเช่นการผิดนัด
ยาหมดก่อนกำหนด ทำยาฉีดอินสุลินตกแตก สายอาหารคุณยายหลุดค่ะ..
หรือแม้กระทั่งลูกผมมีไข้สูงกังวลใจกลัวเป็นไข้ลือดออกทำยังไงดีครับ ฯลฯ
บางทีก็เป็นโทรศัพท์สายนอกที่โทรเข้ามานอกเวลาจะโอนสายเข้ามาที่แผนกOPD
เวลารับสายนอก คนไข้จะนึกว่าเราเป็นสายด่วน...ไขปัญหา!!
บางคนที่มีปัญหาทางจิตก็โทรมาคุยในยามที่เขาเริ่มมีอาการเครียด..นอนไม่หลับ ผมจะทำยังไงดี
กลายเป็นที่ปรึกษาส่วนตัว..บางวันก็ดึกดื่น ไม่มีเว้นวันหยุดราขการ..5555

แต่ถ้าใครถามว่าเราเหนื่อยไหม..เบื่อหรือเปล่าที่ต้องคอยเป็นที่ปรึกษาหรือคอยให้คำแนะนำคนไข้เหล่านี้
บางทีเท่านั้นที่เราเหนื่อยมากๆง่วงตาจะปิด แต่...มุมมองกลับกัน

ถ้าคืนนี้เขาไม่ได้คุยหรือระบายความเครียดของคนไข้หรือความกังวลใจแล้วเราไม่รับสายหรือ
ไม่คุยกับคนไข้ให้คำปรึกษาหรือให้คำแนะนำที่กับคนไข้ในตอนนั้น..
เราก็คงคิดว่าแทนที่คนไข้จะนอนไม่หลับแล้วตัวเราก็คงนอนไม่หลับเหมือนกัน..
อีกต้องมานั่งคิดวิตกแทนเขาว่าคืนนี้คนไข้จะเป้นยังไง

จนนึกว่าทุกวันนี้เราเป็นพยาบาลdeliveryไปซะแล้ว

สงสัยต่อไปต้องถามคนไข้ว่า..ต้องการขนมจีบซาละเปาเพิ่มมั๊ยคะเหมือนเซเว่นอีเลฟเว่นซะเลย5555

From นักศึกษาและภาพน่ารัก

Monday, August 30, 2010

ปรับและเปลี่ยนกับ Humanized Health Care

ปรับและเปลี่ยนกับ Humanized Health Care

บางคนอาจสงสัยว่าต้องปรับและเปลี่ยนอะไร? ถึงจะดีกับสุขภาพของเรา
การที่ได้เข้ามารับผิดชอบดูแลสุขภาพ ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง และผู้ป่วยเบาหวานซึ่งเป็นโรคเรื้อรัง
ผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องได้รับการดูแลให้คำแนะนำ และให้พวกเขา
มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพและ การใช้ยารักษาโรค
ที่สำคัญที่สุดคือการเปลี่ยนแปลงการรับประทานอาหารและการออกกำลังกาย
และลดหรือเลิกพฤติกรรมต่างๆที่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนกับโรคที่เป็น

เช่น การรับประทานอาหาร รสเค็ม มัน หรือ การสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ป่วย ในการปรับเปลี่ยนหลายๆอย่าง

ย่อมเป็นการยากที่จะทำให้คนๆหนึ่งที่เคยรับประทานอาหารเค็ม รสจัด ทุกวัน
ต้องหยุดรับประทานเค็ม เพราะไตวาย หรือคนที่ชอบรับประทานขนมหวาน
หลังมื้ออาหารแล้วต้องหยุดรับประทาน และ ต้องได้ได้ยินแต่คำว่า
เลิกรับประทานอาหารหวาน ขนหวานทุกอย่างเพราะตอนนี้

“คุณ...มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง”และ
“วันนี้คุณควรจะกลับไปปรับเรื่องอาหารการกินใหม่นะต้องลดแป้งและของหวานและออกกำลังกายด้วยนะ”
ผู้ป่วยจะรีบบอกว่า ฉันไม่ได้กินหวานไม่ได้กินข้าวเยอะเลยนะแต่ ทำไมน้ำตาลจึงไม่ยอมลดเลยคะ

ตอนนี้เรื่อง Humanized Health Care เริ่มเข้ามามีบทบาท
ในการดูแลผู้ป่วยทุกคน คือการบริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์

สุขภาพแบบองค์รวมคือการรวมทั้งด้านร่างกายจิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ

ในแต่ละวันคนไข้ที่เดินเข้ามาในโรงพยาบาล ล้วนแต่มีปัญหาสุขภาพทั้งด้านร่างกาย
และไม่น้อยมีปัญหาด้านจิตใจด้วย บางคนมาโรงพยาบาลเพียงเพราะที่บ้านเหงาไม่มีคนดูแลมาโรงพยาบาล
เพราะมีเพื่อนคุย
บางคนมาทุกวันจนรู้จักหมอ พยาบาลทุกคน .....
หัวใจของการบริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ คือการเคารพในศักดิ์ศรี และ
ความมีคุณค่าของความเป็นมนุษย์





การจัดทำโครงการ เฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ปี 2553ขึ้น
เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในกลุ่มโรคเรื้อรัง เบาหวาน และความดันโลหิตสูง
บางทีการเรียนรู้แบบเดิมๆสอนให้เขารู้ว่าต้องรับประทาน หรือ ปฏิบัติตัวแบบไหน
แต่เราไม่เคยลงไปดูว่าทำไมผู้ป่วยเขายังรับประทานเค็มหรือหวานมากๆทั้งที่รู้ว่ามีผลต่อสุขภาพของเขาเอง....

เกิดคำถามว่า ทำไม? ..ทำไม?


เราเริ่มทำแบบประเมินความรู้ก่อนเข้ารับการอบรม





พญ.อรวรรณ ภู่ระย้า เป็นวิทยากรให้ความรู้ในเรื่องโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง
และการดูแลสุขภาพที่ถูกต้อง






กิจกรรม การเข้าฐาน...




สิ่งที่ทุกคนต้องมีเหมือนกันคือ
ลูกโป่งใส่น้ำ ร้อยเชือกห้อยคอ (คือโรคที่ทุกคนเป็นอยู่)





ฟักเขียว(โรคนี้เป็นจากกพันธุกรรม)ที่ต้องแบกไปด้วย





และแต่ละฐานจะมีลูกมะพร้าวน้ำหอม(เป็นภาวะแทรกซ้อน)จากโรคที่เป็นอยู่





เราได้มีส่วนในการทำฐาน 3 ต คือ ตา ไต ตีน หรือพูดเพราะๆ เท้าค่ะ


ตา : คือการบริหารสายตา และระบบประสาทการรับรู้และการสั่งการของกล้ามเนื้อดดยใช้นิ้วชี้แตะกับนิ้วชี้ฝ่ายที่นั่งตรงข้าม





ไต: คือการแนะนำท่านวดไตง่ายๆมาฝาก โดยนวดฝ่ามือให้ร้อนแล้วถูบริเวณหลังตำแหน่งไต2ข้าง





ตีน(เท้า) : คือการใช้กระจกบานใหญ่ตรวจเท้าตัวเองก่อนนอนว่ามีแผลหรือเปล่า




แถมคลายเครียดถ้านอนไม่หลับในผู้สูงอายุ คือ
การหัวเราะดังๆและ นานที่สุด ในกลุ่มคือคนชนะ





ตอบคำถาม2ข้อ ตอบถูก ได้มะพร้าว 1ลูก ถ้าตอบผิด ได้มะพร้าว2ลูก










วนจนครบ5ฐาน ซึ่งมีฐานของกลุ่มเวชปฎิบัติชุมชน ห้องยา กายภาพบำบัด ห้องชันสูตร
และแผนกผู้ป่วยนอกและงานสุขภาพจิต สมาชิกทุกคนมาร่วมกันสรุปสิ่งที่ได้รับจากการอบรมครั้งนี้
แล้วรับรางวัลชนะเลิศและรางวัลชมเชยกันทุกคนกล่าวปิดงาน และร่วมรับประทานอาหารด้วยกันก่อนกลับบ้าน....
















หลังจากได้ทำโครงการครั้งนี้.... ทำให้เราเข้าใจว่า
สิ่งที่เขาจะทำได้ดีที่สุด คือ สิ่งที่เขา....อยากทำต่างหาก ไม่ใช่ สิ่งที่คนอื่นบอก...



From Desktop

Friday, February 5, 2010

เรื่องเล่าบริการด้วยหัวใจ "พี่แป๊ด!!!...หัวใจเต็มร้อย"

From สาระน่ารู้ในการดูแลสุขภาพด้วยตนเอง



พี่แป๊ด!!!หัวใจเต็มร้อย....

ในงานเปิดตัวโครงการ “ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพและการใช้ยาของผู้ป่วยความดันโลหิตสูง
ของแผนกผู้ป่วยนอกและห้องยา"
ในวันนั้น...เป็นวันที่วุ่นวายมากๆเนื่องจาก คนมือใหม่อย่างเรา
ที่ไม่เคยทำโครงการใหญ่ๆแบบนี้มาก่อน..อีกทั้งขาดความพร้อมในทุกรายการ..งานแทบล่ม!!
อะไรก็ไม่ได้ดังใจ..เหมือนที่คิดที่วางแผนเอาไว้..ท้อจนอยากจะร้องไห้..
เพราะทั้งลมทั้งฝน..ตกกระหน่ำ!!คนจะมางานสักกี่คนกันนะ...
งานจะไปรอดเหรอ...งานกร่อยแน่ๆ


คนเริ่มทยอยมาร่วมงานกันเรื่อยๆแต่ไม่ได้มาเต็มร้อย เหมือนที่คิด..
บางคนโทรมาบอกว่าออกมาจากบ้านไม่ได้น้ำท่วม..บางคนเปลี่ยนใจไม่มางาน
เพราะฝนตกหนัก..แต่อีกหลายๆคนตั้งใจมางานจริงๆยอมตากฝนมางาน
พอเห็นคนเดินเข้ามาในงานทีละคน ...ทีละคน…

ถึงเวลาเปิดงานแล้วคนมา10กว่าคน...ประธานมาถึงงานเราก็ต้องวิ่งมารับหน้าไว้ว่าขอเวลา5นาที..
ประธานเลยขอไปตรวจคนไข้บนตึกก่อน..ในการรวมคนให้นั่งที่เรียบร้อยมองดูอะไรๆก็ฉุกละหุกไปหมด..
ท้อแท้และหมดแรง!!

จนกระทั่ง...มีรถเข็นนั่งผู้ป่วยคันหนึ่งเข็นเข้ามาในงาน คนนั่งสวมเสื้อสีแดง
ตัวใหญ่มาก...แถมมีขาข้างเดียว!!!

สายตาทุกคนที่มอง..เกิดคำถามว่ามาได้ยังไงกันเนี่ย???
มารู้ทีหลังว่าคนนี้..ชื่อพี่แป๊ด..
เวรเปลเราส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับพี่เขา
เพราะพี่คนนี้เจ็บป่วยเป็นเบาหวานและมีความดันโลหิตสูง..
มีภาวะแทรกซ้อนจนต้องถูกตัดขาไป1ข้าง
เดินไม่ได้..ต้องใช้ชีวิตบนรถเข็น...และคนในครอบครัว(สามีและลูกสาว)
ต้องช่วยยกใส่รถเข็นนั่งผู้ป่วยเวลาไปนอกบ้านหรือมาโรงพยาบาลตามนัดแพทย์
บางทีนั่งรถมอเตอร์ไซด์ หรือรถซาเล้งมาโรงพยาบาล

พยาบาล: พี่แป๊ด มาร่วมงานยังไงคะ ฝนตกหนักขนาดนี้??
พี่แป๊ด: สามีขับรถซาเล้งมาส่ง แต่ไม่เปียกหรอกเอาร่มมา
ตั้งใจจะมาแล้ว...ฝนตกหนักฉันก็จะมาจ๊ะ!!

พยาบาล: ซึ้งใจ..เหลือเกิน!!! ความเหนื่อย..ความท้อ แทบจะหายไปหมดเลย.
ขอบคุณนะคะที่มาวันนี้..

ในงาน..พี่แป๊ดสนุกสนานและร่วมกิจกรรมกับการอบรมที่เราจัดขึ้นมา
อาจจะติดขัดในเรื่องการเคลื่อนย้ายร่างกายบ้างแต่โชคดีที่มีลูกสาวคอยช่วยเหลือตลอด
พี่แป๊ดได้ร่วมสนุกและทำกิจกรรมตลอดจนทุกคนที่มางานในวันนั้นได้รับความรู้เรื่องโรคความดันโลหิตสูง
การดูแลตัวเองเรื่องการใช้ยา จิตเวช ด้านโภชนาการและการออกกำลังกายบนเก้าอี้..จนสรุปปิดงาน

ก่อนจะกลับบ้าน...พี่แป๊ดได้บอกว่า “กลับบ้านก่อนนะ ถ้าจัดอีกให้บอกด้วยจะมาร่วมงานอีกนะ...
อย่าลืมบอกกันนะคุณพยาบาลคนสวย”!!

คำพูดที่ออกมาจากหัวใจ..รอยยิ้มและแววตาซื่อๆ อ้อมกอดที่อบอุ่น
ทำให้หัวใจเล็กๆของเราอิ่มเอมอย่างประหลาด...
เสียงหัวใจเราบอกตัเองว่า."เราจะเลิกโครงการดีๆได้อย่างไร"..
การทำงานทุกอย่างล้วนมีอุปสรรคไม่มากก็น้อย..
เพื่อต้องการพิสูจน์ความเข้มแข็งของจิตใจเรา เหมือนพี่แป๊ดที่แม้ “ร่างกายพิการแต่หัวใจเต็มร้อย”
ทุกวันนี้..เวลาเหนื่อยและท้อ..
จะนึกถึงรอยยิ้มของคนไข้ที่รอคอยเราอยู่.....

ต้องการให้เราเข้าไปดูแลด้านสุขภาพจัดกิจกรรมที่เขาเหล่านี้มีส่วนร่วม
ได้ดูแลสุขภาพตัวเองมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันซึ่งกันและกัน

รู้สึกท้อได้...แต่อย่าถอย....และคำสัญญาที่ว่า

“เราจะเอาหัวใจกลับมาหากันหากันเสมอ"

From สาระน่ารู้ในการดูแลสุขภาพด้วยตนเอง

Tuesday, April 7, 2009

มุมมองของชีวิต

อีกมุมหนึ่ง..ของการจากลา



ถึงเราจะอยู่กับผู้ป่วยมากมายตั้งแต่แรกเกิด...จนกระทั่งสิ้นลมหายใจ

พยาบาลจะเป็นอาชีพที่อยู่ใกล้ชิดคนไข้มากที่สุดนอกจากญาติที่ดูแล
เราก็รับรู้ถึงความรู้สึกของคนที่เจ็บป่วยและญาติผู้ป่วยได้ดี
บางคนอยู่ที่โรงพยาบาลมากกว่า...ที่บ้านเสียอีก
บางคนก็เข้าๆออกๆยิ่งกว่าการไปช้อปปิ้งเสียอีก
ผู้ป่วยบางคนมีความผูกพันธ์กับเราจนมีความรู้สึกหมือนญาติสนิท

เราถึงรับรู้ถึงการสูญเสีย..เจ็บปวด..ท้อแท้..สิ้นหวัง..ความหวัง(ปาฏิหารย์)
เพราะการเจ็บป่วยเราไม่ต้องเรียกร้อง..แต่มันก็มาหาเราเอง
เงินทองมากมายแค่ไหนก็ไม่สามารถซื้อชีวิตเรากลับมาได้
แต่ในความโชคร้ายก็ยังมีความโชคดีอยู่เสมอ...

ในมุมมองที่สวนทางกัน..

ในเวลาที่เรากำลังจะสูญเสียหรือพรากจากอะไรสักอย่างที่เรารัก(มากที่สุดในชีวิต)
กลับทำให้ใครหลายคนที่(ละเลย)หรือไม่เคยดูแลคนที่เรารักทั้งที่เราอยู่ใกล้กัน
หรือในบ้านเดียวกันแต่เดินสวนกันไปมาบางคนแทบไม่เคย(ใส่ใจ)ความรู้สึกของกันและกัน
กลับมาใส่ใจดูแลกันในบั้นปลายชีวิต..แต่ก็ดีนะที่ยังมีเวลาทำอะไรให้คนที่เรารักบ้าง
ในเวลาที่เหลืออยู่....

อีกมุมหนึ่ง..

คนที่เรารักเราและคอยดูแลเอาใจใส่มาตลอดและเวลาที่เขาจะจากไป(ตลอดกาล)
ซึ่งเรารู้ว่าเราทุกคนหนีไม่พ้นแต่แค่เราไม่รู้ว่าเขาจะจากเราไปเมื่อไหร่เท่านั้นเอง
ซึ่งอาจจะเป็นเราหรือเขาที่จากไปก่อน...

ทุกคนต้องมี..สติ...และการเตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อมและเข้มแข็ง
ทำเวลาที่เรามีอยู่...ให้คุ้มค่ามากที่สุด

ทำวันนี้...ให้เหมือนกับวันสุดท้ายในชีวิตของเรา
และที่สำคัญ..คือความรักและใส่ใจกับสิ่งเล็กๆน้อยๆที่เราละเลยไป
ให้ลองหันกลับมาดูและทบทวนซิว่า...

วันนี้...เราทำอะไรให้คนที่เรารักแล้วหรือยัง?

การกอด..คือการบอกรักที่ดีที่สุด
อยากให้ทุกคน..กลับไปกอดและบอกรักกันวันละครั้งก่อนออกจากบ้าน
เพราะเมื่อเราก้าวเท้าออกไปแล้ว..ไม่มีใครรู้หรอกว่าเราจะได้กลับมาบ้านเราอีกหรือเปล่า...

Thursday, January 8, 2009

จิตอาสา

จิตอาสา

แผนกผู้ป่วยนอก



โรงพยาบาลของเราเริ่มมีอาสาสมัครและคนทั่วไปสมัครเป็นจิตอาสากันมากถึง30คน
โดยจะอาสาเป็นคนที่คอยแนะนำผู้ป่วยในการกดบัตรคิวเพื่อทำประวัติการตรวจ
เดินผลเลือดให้บ้างคอยพาผู้ป่วยไปส่งตามแผนกต่างๆเพื่อสะดวกในการตรวจ
และบางคนมาช่วยห่อสำลีทำแผลและช่วยดูแลการชั่งน้ำหนักและเครื่องวัดความดันอัตโนมัติ





หรือบางวันก็มีการบรรเลงเพลงดนตรีไทยโดยใช้ซอด้วงขับกล่อม
เพื่อลดความเครียดและเป็นการผ่อนคลายโดยใช้เสียงดนตรีไทย
ให้กับผู้ที่มารับบริการในโรงพยาบาล






และอาสาสมัครสามารถเลือกว่าอยากช่วยที่จุดไหนโดยมีพยาบาลคอยดูแล
ให้คำแนะนำอาสาสมัครกลุ่มนี้อีกที
บางวันก็มา3คนบางวัน5คนแล้วแต่ใครว่างวันไหนผลัดกันมาในช่วงเช้าซึ่งทางโรงพยาบาลมีคนไข้เยอะมาก
เพราะไม่มีค่าตอบแทนแต่ทุกคนก็มีน้ำใจล้วนๆแถมเสียสละเวลามาช่วยงานนี้
น่าชื่นชมมากๆ มีเรื่องดีๆแบบนี้ก็เลยเก็บตกมาเล่าให้ฟังค่ะต้อนรับปีใหม่กันซะเลย..

ฝึกการหายใจเข้า-ออกโดยใช้เสียงเพลง

การฝึกลมหายใจเข้าออก

หน้าห้องตรวจ

เช้าๆทุกวันจะมีนักศึกษาพยาบาลจากมหาวิทยาลัยเอกชนนำผู้ป่วยและญาติที่รอตรวจออกกำลังกายง่ายๆ
โดยใช้เพลง"ดั่งดอกไม้บาน"

โดยมีท่าประกอบการออกกำลังกาย เช่น ท่าลมหายใจเข้า ลมหายใจออก และอีกหลายๆท่า
เป็นการออกกำลังที่ใช้เวลาไม่นาน และ ง่ายๆสามารถทำเองได้ที่บ้าน
น้องๆก็ตั้งใจสอนเป็นพิเศษทุกวันถึงแม้บางวันวีซีดีเพลงจะเปิดไม่ได้บ้างเสียงเบาบ้าง
ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคบางทีต้องร้องด้วยเสียงตัวเองเพราะอยากให้คุณลุงคุณป้า
มีสุขภาพแข็งแรงก็เลยเก็บภาพมาฝากค่ะ







เป็นภาพที่น่ารักมากใช่ไหมคะเพราะต่างคนก็ตั้งใจทำตามแต่ก็ไม่พร้อมกันขึ้นบ้างลงบ้าง
ก็สร้างความสนุกและเสียงหัวเราะและรอยยิ้มให้กับคนที่พบเห็นในบรรยากาศเช้าๆแบบนี้ค่ะ
ได้ใส่วีดีโอมาด้วยค่ะลองชมดูนะคะ

http://video.google.com/videoplay?docid=5720136833380579847

Sunday, December 7, 2008

โรคซีวีเอส

โรคซีวีเอส .. โรคของคนที่ทำงานอยู่หน้าจอคอมเป็นเวลานานๆ :



เพื่อนที่รู้จักกันเริ่มมีปัญหาเมื่ออยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ
บ่นว่าแสบตามากๆทั้งที่เมื่อก่อนไม่เคยมีอาการ..
บางทีร่างกายเราเมื่อมีอาการผิดปกติ..ร่างกายเราจะเริ่มฟ้องถ้าคนที่สังเกตตัวเอง
จะพบความบกพร่องเล็กๆน้อยๆที่เรามักมองข้ามไป..จนมีอาการมากๆต้องรีบไปพบแพทย์

ส่วนใหญ่จะมีอาการปวดตา แสบตา ตาพร่ามัวแม้คุณจะปิดมันไปนานแล้วก็ตาม
และบ่อยครั้งที่จะมีอาการปวดหัวร่วมด้วย
อาการทางสายตาเหล่านี้เกิดจากการจ้องดูข้อมูลบนคอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานานเกินไป
เรียกกลุ่มอาการเหล่านี้ว่า "คอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม" หรือ
"โรคซีวีเอส" ( Computer Vision Syndrome )
อาการปวดตาและแสบตาเกิดขึ้น เพราะมีสมาธิกับข้อมูลบนจอคอมพิวเตอร์มากเกินไป
จนลืมกะพริบตา แก้ไขได้โดยให้กะพริบตาบ่อยๆ
เมื่อรู้สึกตัวว่าปวดตาหรือแสบตา อาจใช้น้ำตาเทียม (artificial tear) หยอดตาบ้าง
ก็จะสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดตาและแสบตาได้เช่นกัน
สำหรับอาการอื่นๆ เช่น ตามัว หรือ ปวดหัว จะเป็นอาการที่เกิดขึ้นเพียงชั่วครั้งชั่วคราว
เมื่อพักแล้วก็จะทุเลา และจะมีอาการต่างๆดีขึ้น
สิ่งสำคัญที่ต้องนึกถึงเสมอคือ การทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่ถูกต้องจะสามารถลดปัญหาดังกล่าวได้

วิธีการแก้ไขง่ายๆ



*เพียงแค่คุณละสายตาไปยังสิ่งอื่นทุกๆ15นาทีโดยอาจเลือกมองจุดที่ทอดไปตามทางเดิน
หรือหน้าต่าง 10-20 ฟุต แค่เพียง 20วินาที จากนั้นก็กลับมาโฟกัสในห้องทำงานเหมือนเดิม

*บริหารดวงตาโดยกลอกตาไปมาเปลี่ยนทิศทางไปเรื่อยๆ เป็นการบริหารกล้ามเนื้อตา

*ถ้ามีอาการปวดตา บรรเทาอาการปวดโดยการถูฝ่ามือเข้าด้วยกันประมาณ 10-15 วินาที เพื่อให้มืออุ่นขึ้น
แล้วนำฝ่ามือมาปิดที่หนังตาสักพักหนึ่งเพื่อให้สายตาพักจากแสงสว่างจากจอคอมพิวเตอร์
และความร้อนทำให้การไหลเวียนของโลหิตที่ดวงตาดีขึ้น

*แสงสว่างไม่ให้มีแสงสะท้อนมาที่จอคอมพิวเตอร์ และปรับแสงสว่างหน้าจอคอมพิวเตอร์ไม่ให้แสงจ้ามากเกินไป

* ควรนั่งห่างจากจอคอมพิวเตอร์ประมาณ 16-30 นิ้วจากดวงตา
และควรให้จุดกึ่งกลางของหน้าจอคอมพิวเตอร์อยู่ต่ำกว่าระดับสายตาประมาณ 20 องศา
จัดเป็นท่านั่งทำงานกับจอคอมพิวเตอร์ที่ดีที่สุด และพึงระมัดระวังปัญหาปวดหลัง ปวดไหล่
ปวดคอ ที่มักเกิดขึ้นร่วมกันได้บ่อย ๆ

***อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ค่ะ
*ไอเดียเด็ดๆเพื่อชีวิตที่ง่ายและเร็วขึ้นของพีพีบุ๊คส์
*http://www.bangkokhealth.com/homesafety_htdoc/homesafety_health_detail.asp?Number=9281
*http://rx12.wsnhosting.com/panpup/cvs.html

Saturday, December 6, 2008

เรื่องดีๆจาก 2วันของศูนย์คู่ใจ

ศูนย์คู่ใจหรือ(BUDDY CENTER)



เป็นการจัดอบรมฟื้นฟูเจ้าหน้าที่บริการคลินิก
ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเป็นเวลา2วัน
วันแรก

เป็นการทบทวนการให้คำปรึกษา
สำหรับเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาอบรมนั้น ซึ่งมีทั้งพยาบาลและอาสาสมัคร
ของI.O.Mคนเดิมๆหลายคน
ก็ทักทายกันแบบสบายๆตั้งแต่เช้า..

โดยอาจารย์เริ่มแนะนำตัวเองและให้สมาชิกจัดเก้าอี้เป็นแบบตัวU
และออกมายืนเรียงกันโดยไม่ให้บอกหรือถามอายุกันโดยสังเกตุจากใบหน้าเป็นหลัก
ก็มีหลายคนที่หน้าตาดูเด็กกว่าอายุจริง(รวมทั้งผู้เขียนด้วย)555
มีหนุ่มๆหลายคนที่อยากมายืนก่อนเราเพราะคิดว่าตัวเองแก่
เอาเข้าจริงๆอ่อนกว่าเราตั้งหลายปี555

เริ่มแนะนำตัวเองทีละคนและชื่อเล่นเพื่อทำความรู้จักกันให้มากขึ้น
หลังจากนั้นก็เริ่มเข้าสู่บรรยากาศการเรียนและเทคนิคในการให้คำปรึกษา
โดยการสร้างบทบาทสมมุติเป็นคนที่เข้ามารับคำปรึกษาและผู้ให้คำปรึกษา
โดยเวียนกันถามปัญหาของผู้มารับคำปรึกษาจนสรุปปัญหาได้ว่าคืออะไรและให้คำแนะนำ
และสรุปปิดท้ายด้วยอะไรที่น่าคิด..

อาจารย์เล่าว่า

"เด็กตาบอดคนหนึ่งนั่งอยู่บนสะพานลอยแล้ววางหมวกไว้1ใบพร้อมกับเขียน
ข้อความว่า"ช่วยทำบุญทำทานกับเด็กตาบอดด้วยครับ"

คนที่ผ่านไปผ่านมาก็ให้เงินเหรียญแค่นิดเดียวจนมีชายคนหนึ่งเดินผ่านมาแล้วรู้สึกสงสารเด็กก็เลยกลับป้าย
เขียนข้อความใหม่ให้แล้วปักๆไว้ที่เดิมปรากฎว่าหลังจาก1ชม.

เด็กคนนี้มีเงินเต็มหมวก..แปลกจัง!!

เกิดอะไรขึ้น?..ชายคนเดิมเดินกลับมาดูเด็กคนนี้อีกครั้ง..
เด็กตาบอดหูจะมีการได้ยินที่ดีกว่าคนปกติ
เด็กจำได้และกล่าวขอบคุณเขาและถามว่าท่านเขียนอะไรที่ป้ายนั้น..

ชายคนนั้นก็เลยบอกว่าเราแค่เขียนว่า
"วันนี้เป็นวันที่สวยงามแต่ผมไม่มีโอกาสได้เห็นมัน"
ซึ่งก็ความหมายเดิมคือ
"ผมตาบอด"นั้นเอง
ภาคบ่ายเป็นการเล่าประสบการณ์ของตัวเองของคนที่ป่วยเป็นโรคเอดส์
ทำให้เรารู้สึกว่าการเรียนรู้จากคนที่มีประสบการณ์โดยตรงทำให้เราเข้าใจความรู้สึกของเขาได้มากขึ้น
และประสบการณ์ที่เขาได้มาจากชีวิตจริงนั้น..กว่าจะมาถึงวันนี้ต้องผ่านการเจ็บปวดมากมายแค่ไหน..



อบรมวันที่2

เป็นการเริ่มต้นที่สนุกมากขึ้นเพราะวิทยากรเป็นพยาบาลจากโรงพยาบาลจังหวัดมาสอน
สอนให้เรา

:สำรวจตัวเราเองว่าตอนนี้เราคิดถึงอะไรอยู่
:การมองตาคนที่นั่งใกล้เรานาน2นาทีแล้วเราเห็นอะไร
:คนเรามีองค์ประกอบที่สำคัญกี่ส่วน ?
ตำตอบคือ4ส่วนค่ะ
1.ตัวเอง
2.ครอบครัว
3.งาน
4.สังคม

การมีสติก่อนที่จะทำอะไรโดยสำรวจใจตัวเองก่อนว่าพร้อมหรือยัง
โดยเริ่มจากเริ่มก้าวเท้าออกจากบ้านจนถึงที่ทำงานและเวลาเลิกงานแล้ว
ทั้งวันเราได้ทำอะไรไปบ้าง

หลังพักเบรคอาหารว่าง..

เราก็เริ่มด้วยวิทยากรจากรพ.จังหวัดอีกท่านหนึ่ง
พูดถึงหน่วยงานที่ให้การช่วยเหลือผู้ติดเชื้อเอดส์และโครงการยาสำหรับผู้ป่วยเอดส์
ซึ่งมีผู้เข้าร่วมโครงการเกือบพันคนได้เฉพาะในรพ.จังหวัดเป็นเด็กและผู้ใหญ่และคนต่างด้าว
และพักทานอาหารเที่ยงกันหลังทานอาหารอาสาสมัครI.O.M.ก็ร้องเพลงเล่นอะไรสนุกๆ
โดยการให้ผู้เข้าอบรมมีส่วนร่วมโดยการร้องเพลงและชวนเพื่อนในห้องออกมาเต้นและเล่นท่าทางตามเพลง
เช่นเพลงมะดัน,เพลงโดเรมอน ,เพลงตุ่มใส่น้ำ, เพลงกิ่งก้านใบต่างก็สนุกกันพอสมควร
บ่ายก็สรุปประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการนี้และปิดการอบรม...

และสิ่งที่มีค่าที่สุดจากการอบรมคือ..
"คำว่ามิตรภาพคนไทยและคนต่างด้าว"....

Thursday, November 20, 2008

ของขวัญปีใหม่



ขวัญปีใหม่

มุมซักประวัติ!!

เห็นชื่อนี้แล้วสะดุดใจ..ชื่อเพราะและความหมายดีจัง
ทำให้นึกถึงเด็กคนหนึ่งที่เกิดในวันที่1มกราคมปี2000

เป็นเด็กคนแรกที่คลอดอุแว๊!!ๆและทำให้เจ้าหน้าที่ห้องคลอด..
และคนทั้งโรงพยาบาลตื่นเต้น..กับการ(ลุ้น)คลอดและ(ลุ้น)ในการกดโทรศัพท์
เพื่อโทรเข้าในรายการโทรทัศน์รายการหนึ่ง..ต้องแข่งกันว่าใครไวที่สุด
เด็กคนนี้เป็นคนที่เกิดมาโชดดีมาก
เพราะอะไรนะเหรอ?

โชดดีเพราะคลอดมาแค่ร้องอุ๊แว๊ก็ได้เงินรางวัลตั้ง1แสนบาท
พร้อมของขวัญมากมายและได้นมฟรีจนอายุ3ขวบ


พยาบาล: ถามว่าชื่อนี้ใครตั้งให้น้องคะ
ยาย: บอกว่าห้องคลอดตั้งให้ค่ะ

พยาบาล: ชื่อเพราะและถูกใจมีความหมายดีอีกด้วย
: วันนี้ไม่สบายมีอาการอะไรบ้างคะ

ยาย :เป็นหวัดค่ะมีน้ำมูกไหลไอนิดหน่อย

พยาบาล: วัดไข้ก่อนนะคะซักประวัติแล้วนั่งรอหน้าห้องตรวจได้เลยค่ะ
กลับบ้านอย่าลืมดื่มน้ำอุ่นๆมากๆนะคะ
และทานผักผลไม้เปรี้ยวๆจะได้หายเร็วๆ
และอย่าลืมนอนพักผ่อนมากๆนะคะ

ยาย :ไหว้คุณพยาบาลก่อนลูก

พยาบาล: หายเร็วๆนะคะ




วันๆหนึ่งเราเจอคนไข้และญาติมากมาย
หลากหลายปัญหาทั้งการเจ็บป่วยทางกายและทางใจ
บางทีก็เข้ามาขอคำปรึกษาปัญหาต่างๆ..
ต้องรับฟังปัญหาของคนไข้และคอยแนะนำ
การดูแลแบบ"องค์รวม"ทั้งร่างกายจิตใจและสังคม
เหมือนกับเราเคยถามอาจารย์ว่า

" อาจารย์คะแถบหมวกสีดำที่อยู่บนหมวกของเรานี้หมายถึงอะไรคะ"
อาจารย์บอกได้โดนใจมากคือ"ความทุกข์"ของคนไข้ที่เราต้องแบกไว้
อาจารย์เคยถามว่ามีใครที่เจ็บป่วยแล้วเดินยิ้มเข้าโรงพยาบาลบ้าง
เพราะส่วนใหญ่เข้ามาเพราะทุกข์ใจและกลับไปเมื่อหายป่วยหรือดีขึ้น
แต่พยาบาลทุกคนก็เต็มใจและภาคภูมิใจที่ได้ทำงานตรงนี้.นี่แหละ"พยาบาล"!!

Friday, November 7, 2008

เก็บตกจาก"BUDDY CENTER"(ศูนย์คู่ใจ)



'แก้ว1ใบ'

อาจารย์ถามเราว่าแก้วใบนี้หนักเท่าไหร่?
ทุกคนก็จะทายว่าหนัก20-500กรัม
อาจารย์ก็ถามว่าแล้วถ้าแก้วใบเดิมนั้นเราถือไว้นาน 1นาทีหนักเท่าไหร่?
และถ้าถือไว้นานกว่านั้นเป็น1ชั่วโมงหนักเท่าไหร่?

น้ำหนักของแก้วใบนั้นขึ้นกับการถือแก้วต่างหาก!!!


ข้อคิดที่ได้:

คือการรู้จักปล่อยวางปัญหานั่นเองเพราะถ้าเราแบกปัญหาของเรา

ไว้นานเท่าไหร่"ใจเรา"ต่างหากที่ทำให้เรารู้สึกว่าหนักมากขึ้นเท่านั้น..!!!

Sunday, October 26, 2008

จากหนังสือ"บันทึกน้ำตา1ลิตร"




จากหนังสือ.. บันทึกน้ำตา1ลิตร (1 litre of tear )
ในวันว่างได้เดินเข้าร้านหนังสือเจอหนังสือที่ขึ้นโชว์ Super bestseller "บันทึกน้ำตา1ลิตร"
จำได้ว่าเมื่อปีที่แล้วเพื่อนบอกว่ามีหนังญี่ปุ่นเรื่องหนึ่งดีมากๆๆเอ!! เรื่องเดียวกันนี่นา
พอเริ่มอ่านแค่คำนำของเรื่องก็เริ่มเศร้าแล้วเรา...

หนังสือเล่มนี้มาจากชีวิตจริงของเด็กผู้หญิงญี่ปุ่น(ชื่ออายะ)ที่มีอายุแค่15ปีที่ต้องเจ็บป่วยด้วยโรคร้าย
ที่ชื่อว่า Spinocerebellar ataxia(SCA) คือภาวะสมองน้อย ก้านสมอง
และเซลล์ประสาทไขสันหลังเสื่อมลงและหดตัว
จะทำให้เสียการควบคุมและการสั่งงานของร่างกาย และเป็นโรคทางพันธุกรรม..

ที่เศร้ามากกว่านั้นคือโรคนี้อาการจะแย่ลงเรื่อยๆ การเดินการใช้กล้ามเนื้อ การกิน
การพูดจะเริ่มเสียการทำงานไปและร้ายสุดๆคือ ยังไม่มียาที่รักษา มีแค่การทำกายภาพบำบัด
ร่วมกับการให้ยาของแพทย์ เพื่อประคับประคองอาการเท่านั้นเอง..



หนังสือเล่มนี้สะท้อนให้เห็นถึงความรักความผูกพันของครอบครัวและแม่....
แม่ที่พยายามหาทางรักษาลูกทุกวิถีทาง ถึงแม้จะรู้ว่าโรคนี้รักษาไม่หาย..รอแค่ปาฏิหารย์..เท่านั้น

เข้าใจความรู้สึกของลูกที่ต้องตัดสินใจย้ายโรงเรียนจากเด็กปกติไปอยู่ในโรงเรียนสงเคราะห์(พิเศษ)
และความเห็นใจเข้าใจความรู้สึก ของลูกที่ไม่อยากเป็นภาระของคนอื่น..ได้เห็นความน่ารักของ"อายะ"
เด็กสาวที่อยู่ในวัยสดใสในช่วงของวัยรุ่นและต้องเจอกับเรื่องร้ายๆในชีวิตและได้เขียนบันทึกไว้ทุกวัน
บอกผ่านความรู้สึกดีๆและไม่เคยโทษใคร..ความน่ารักของเพื่อนๆที่คอยช่วยเหลือในโรงเรียน
และความเสียสละของพี่น้องอายะ..เพื่อลดภาระเพื่อแม่จะได้มีเวลาดูแลอายะได้เต็มที่
มองเห็นมุมมองของความรักความผูกพันของพี่น้อง
และที่สำคัญคือกำลังใจที่จะ"ปฏิวัติตัวเอง"เสียใหม่ และเขียนบันทึกเพื่อเป็นกำลังใจให้ตัวเธอเอง

โดยถ่ายทอดความรู้สึกและเรื่องราวต่างๆตจนสมุดบันทึกมากถึง46เล่ม
จนเธอเขียนไม่ได้และบอกเล่าความตั้งใจด้วยกระดานอักษรที่ทำขึ้นเองเพื่อบอกผ่านความรู้สึก
และการใช้รถเข็นแทนการเดิน..ทุกคำพูดทำให้เราเห็นใจและเข้าใจความรู้สึก
ของคนที่เคยทำอะไรทุกอย่างได้แล้ววันหนึ่งกลับทำให้เราทำอะไรไม่ได้..
ทุกข์ทรมานแค่ไหน..แต่เธอก็ยังเป็นกำลังให้คนที่ท้อแท้ต่อโชคชะตาไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อ
ของผู้ป่วยอัมพาตครึ่งตัว ที่ไม่พยายามทำกายภาพบำบัดทั้งที่หมอพยายามเคี่ยวเข็ญสารพัด
แต่แค่เห็นภาพอายะจังพยายามตั้งใจเข็นรถเข็นผ่านไปแค่วูบเดียวก็ทำให้เกิดกำลังใจสู้ต่อ..

และที่สำคัญเธอยิ้มรับกับปัญหาทุกอย่าง..เธอจึงเป็นที่รักของทุกคน..

และบันทึกเล่มนี้ คิโต ชิโอกะ ผู้เป็นแม่ที่รักลูกที่สุดได้รวบรวมแล้วตีพิมพ์ ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1986
และอายะได้เสียชีวิตลงในเวลา เที่ยงคืน 55นาที ของวันที่ 23 พฤษภาคม ปี 1988
ท่ามกลางบุคคลอันเป็นที่รักพร้อมหน้า และอายะได้มอบร่างกายให้วงการแพทย์ได้ศึกษาเพื่อหาทางรักษาโรคนี้

และแม่ของอายะยังเขียนหนังสือต่อมาอีกในชื่อ"บันทึกของแม่จาก 'บันทึกน้ำตา1ลิตร' อุปสรรคแห่งชีวิต"

คำพูดที่ประทับใจ"ฉันอยากทำอะไรเป็นประโยชน์ให้แก่ผู้คนบ้าง แม้เป็นเพียงสิ่งเล็กน้อยก็ตาม"
ทำให้รู้ว่า"อยากทำอะไรก็รีบทำก่อนที่จะสายเกินไป"

From จาก"บันทึกน้ำตา1ลิตร"


หมายเหตุ: ภาพนี้เป็นภาพของอายะจังตัวจริงค่ะว่างๆก็ลองเข้าไปดูในบล็อกข้างล่างนะคะ..น่ารักมากๆค่ะ

จาก..คนที่รัก"อายะจัง" เพราะอายะจังคือกำลังใจในการต่อสู้กับอุปสรรคของคนที่ท้อแท้!!!

บล็อกนี้ขออุทิศแด่"อายะจัง"ผู้กล้าหาญ...

http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=synnia&month=03-2007&date=22&group=4&gblog=1
http://www.youtube.com/watch?v=SdPsaDPxI-s
http://forums.popcornfor2.com/index.php?showtopic=6773&st=94
http://mblog.manager.co.th/xanax71/1-329/

Tuesday, September 30, 2008

Honeymoon's cystitis...เอ!! โรคอะไรกันนะ???

มุมซักประวัติ..


วันนี้กำลังคิดว่าจะเขียนอะไรดี..
นึกขึ้นได้ว่าตอนสายๆพี่ที่ทำงานด้วยกันบอกว่าฝากโต๊ะแป็ปนะเดี๋ยวไปห้องน้ำก่อนนะ
จากการสอบถาม(กระซิบ)กันเบาๆพี่เป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

โอ๊ว!!โรคนี้ใครเป็นทรมานสุดๆจริงๆเพราะจะมีอาการปวดท้องน้อยจะมีการปัสสาวะบ่อย แสบ ขัด กระปริบกระปรอย รู้สึกถ่ายไม่สุด กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ บางรายมีเลือดออกมาด้วย



พบในเด็กอนุบาลไปจนถึงคนสูงอายุ (โดยเฉพาะคนที่อนามัยจัดคือ อั้นๆๆจนชิน)
โดยเฉพาะพยาบาลที่ทำงานนั่งซักประวัติผู้ป่วยที่มาใช้บริการจำนวนมากๆ
และลุกจากที่ทำงานได้ยากเพราะติดพันงานหรือประเภทเอาไว้ก่อน..อีกนิดน่ะ..
จนไม่มีเวลาไปเข้าห้องน้ำและยิ่งห้องน้ำไม่สะอาดก็ปัสสาวะไม่ออกซะงั้น..
บางคนเป็นบ่อยๆเนื่องจากมีความผิดปกติทางกายวิภาคของของกระเพาะปัสสาวะ
หรือท่อปัสสาวะต้องใส่สายสวนปัสสาวะไว้ตลอดเอาสายออกไม่ได้เลยก็เคยเจอ
โดยเฉพาะผู้หญิงที่อยู่ในช่วงหลังฮันนี่มูนกลับมาใหม่ๆต้องแอบกระซิบคุณหมอขา..(หนูขอยาหน่อยค่ะ)
ก็เลยเรียกว่าโรค Honeymoon Disease เพราะสาเหตุนี้นะเอง
สมัยเราเป็นนักศึกษาพยาบาลอาจารย์หมอบอกจะสอนเรื่องโรค "ฮันนี่มูนดีซิส"ก็นั่งถามกันโรคอะไรชื่อแปลกจัง..
(ดูหวานๆแต่แฝงความเจ็บปวด)..แต่ก็มีหลายคนพูดว่า"โรคคนในอยากออก คนนอกอยากเข้า"
จากการซักประวัติผู้ป่วยที่เข้ามาตรวจ เราจะพบว่ามีอาการแบบที่กล่าวมาแล้วนั้นแทบทุกคน
และจะต้องส่งไปตรวจปัสสาวะก่อนพบแพทย์เพื่อให้การรักษาที่รวดเร็วขึ้น
โดยปัสสาวะมีเม็ดเลือดขาวในปัสสาวะมากกว่า 5-10 ตัว
แบคทีเรียที่ตรวจพบในปัสสาวะมากกว่า 1 ตัว
ส่วนการส่งเพาะเชื้อปัสสาวะมีความจำเป็นในผู้ป่วยสูงอายุ มีอาการของโรคนานเกิน 7 วัน
ผู้ป่วยที่มีประวัติเคยเป็นซ้ำๆบ่อยๆ และผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือโรคเรื้อรังอื่น เช่น เบาหวาน โรคตับ โรคไต

วิธีง่ายๆ...ถ้าเราไม่อยากเป็นโรคนี้!!...

*พยายามดื่มน้ำมากๆ และอย่ากลั้นปัสสาวะ ควรฝึกการถ่ายปัสสาวะนอกบ้าน หรือระหว่างเดินทางได้ทุกที่
การกลั้นปัสสาวะทำให้เชื้อโรคอยู่ในกระเพาะปัสสาวะได้นานจนสามารถเจริญเติบโตทำให้เกิดการอักเสบได้
*หลังถ่ายอุจจาระควรใช้กระดาษชำระเช็ดทำความสะอาดจากข้างหน้าไปข้างหลังเพื่อป้องกันไม่ให้นำเชื้อโรคเข้าสู่ท่อปัสสาวะ
*สำหรับอาการขัดเบาหลังร่วมเพศ (Honeymoon’ s cystitis) อาจป้องกันได้โดยดื่มน้ำ 1 แก้ว
ก่อนร่วมเพศควรใส่ครีมหล่อลื่นช่องคลอดก่อนถ้าจำเป็น และถ่ายปัสสาวะทันทีหลังร่วมเพศ
*ระหว่างที่มีตกขาว ควรทำความสะอาดบ่อยขึ้น อย่าให้หมักหมมถ้าจำเป็นอาจต้อง พบแพทย์นรีเวช
*หลีกเลี่ยงอาการท้องผูกนานๆ ถ้าจำเป็นอาจต้องใช้ยาระบาย
*พิจารณาให้ยาปฏิชีวนะจากแพทย์