Sunday, August 19, 2007

การดูแล"เส้นผม"

แก้ปัญหาเส้นผมด้วยอาหาร


ตัวการร้ายทำลายผมสวย ๆ ของเรานอกจากมลภาวะที่ส่งผลมาจากภายนอกแล้ว สุขภาพภายในที่เกี่ยวเนื่องมาจากสารอาหารที่รับประทานเข้าไปก็มีผลโดยตรงทีเดียว...
เพราะฉะนั้นถ้าคุณอยากมีผมสวยเงางาม สำรวจอาหารและความต้องการสารอาหารของเส้นผมของคุณด้วยค่ะ

ศีรษะแห้งและมีรังแค
อาจเพราะขาดธาตุสังกะสี ซึ่งมีมากในอาหาร เช่น หอยนางรม เนื้อแดง เมล็ดฟักทอง กรดไขมันจากน้ำมันพืชทุกชนิด ปลาที่มีไขมันมาก เช่น ปลาสวาย ปลาช่อน ปลาซาร์ดีน ปลาซัลมอน และถั่วเมล็ดแห้ง

ผมร่วง
อาจเกิดจากการขาดวิตามินเอ ที่มีมากในข้าวกล้อง ปลาที่มีไขมันมาก ถั่ว ไข่ นม โยเกิต

ผมกระด้าง
อาจเกิดจากการขาดวิตามินบี ที่มีมากในอาหาร เช่น ไข่ ผลิตภัณฑ์จากนม

ผมเปราะแตกหักง่าย
อาจเกิดจากการขาดธาตุเหล็ก ซึ่งมีมากในเมล็ดงา ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่า เนื้อวัว ตับ แอพริคอตแห้ง

ผมเสียมาก
อาจเกิดจากการขาดธาตุทองแดงและสังกะสี ซึ่งทองแดงพบมาก ในตับวัว หอยนางรม ปลาซาร์ดีน ปู กุ้งมังกร เห็ด ถั่วลิสง ลูกพรุน ส่วนสังกะสีพบมากในหอยนางรม เนื้อซี่โครงหมู ปลาซาร์ดีน จมูกข้าวสาลี

อาหารที่ช่วยบำรุงเส้นผมโดยรวม
หาได้จากไข่ และผลิตภัณฑ์จากนม ผักใบเขียวเข้ม ฟักทอง แครอท และผักอื่น ๆ ที่อุดมด้วยเบต้าแคโรทีน ปลาที่มีไขมันมาก อาหารทะเล เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ข้าวกล้อง ถั่วเมล็ดแห้ง ถั่วเปลือกแข็ง ผลไม้สดทุกชนิดที่อุดมด้วยวิตามินซี และที่ขาดไม่ได้คือการดื่มน้ำเปล่าให้ได้อย่างน้อยวันละ 2 ลิตร (6-8 แก้ว)

แล้วผมคุณจะสวยจนคนตะลึง...

โรคนอนกรน

นอนกรน (Snoring Sleep Apnea)



เสียงกรนมาจากไหน

เกิดจาการอุดกั้นของทางเดินหายใจตั้งแต่จมูกลงไปถึงคอ ได้แก่ ลิ้นไก่ เพดานอ่อน โคนลิ้น ทอนซิลมีความหนา หรือโตขึ้น และไปกีดขวางทางเดินอากาศ ทำให้บริเวณทางเดินอากาศแคบลงในขณะหลับ และลิ้นตกลงด้านล่างซึ่งไปกดทางเดินอากาศทำให้ลมหายใจเข้าออกแรงกว่าปกติ เกิดการกระแทกกันของผนังคอ ส่งผลให้เกิดการสั่นสะเทือน

การนอนกรนแบ่งเป็น 3 ระดับ

ระดับที่ 1 คือ เป็นในขณะนอนหงาย เมื่อนอนตะแคงจะทำให้อาการดีขึ้น
ระดับที่ 2 คือ กรนในทุกท่านอนแม้กระทั่งนั่งหลับก็มีเสียงกรน
ระดับที่ 3 คือ มีการหายใจติดขัด หายใจสะดุด สำลักน้ำลายหรือ มีการหยุดหายใจเป็น ระยะ ๆ ส่งผลให้ตอนกลางวันง่วงนอนง่าย ขี้เซา หลับใน ซึ่งการกรนในระดับที่ 3 นั้นส่งผลให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมาดังกล่าวข้างต้น

การรักษา

ทำได้จากการรักษาโรคภูมิแพ้ ลดน้ำหนัก นอนตะแคง ควรงดสุรา บุหรี่ หลีกเลี่ยงการทำงานการออกกำลังกายที่ทำให้เหนื่อยล้าจนเกินไป งดยากล่อมประสาท งดยารักษาภูมิแพ้ ที่ทำให้ง่วงให้ใช้พลาสเตอร์ขยายปีกจมูก ใช้ฟันยางป้องกัน การนอนกรนใช้เครื่องช่วยหายใจซีแพพ (CPAP : Continuous Positive Airway Pressure) โดยแพทย์จะเป็นผู้แนะนำให้ท่านทราบ

ภูมิแพ้ทำให้นอนกรน

จมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ทำให้ลมหายใจเข้าออกแรงขึ้น เนื่องจากน้ำมูก หรือเนื้อเยื่อภายในจมูกบวมขึ้นควรรักษาภูมิแพ้ให้ดี ปัจจุบันสามารถใช้เลเซอร์ หรือคลื่นวิทยุรักษาได้ ถ้าการรักษาทางยาไม่ได้ผล

เด็กนอนกรนเกิดจากสาเหตุใด
เด็กนอนกรนเป็นเด็กขี้เซา หรือไม่สบาย การเรียนถดถอยมักเกิดจากต่อมทอนซิลโต ต่อมอะดีนอยด์โต ภูมิแพ้ อ้วน กระดูกบริเวณใบหน้าและคอผิดปกติ รักษาต่อมทอนซิลอักเสบ รักษาภูมิแพ้ทำให้อาการดีขึ้น การผ่าตัดต่อมทอนซิลในรายที่ใช้ยาไม่ได้ผล

เลเซอร์หรือ การผ่าตัดแพทย์จะช่วยแนะนำการผ่าตัด ในกรณีที่การปฏิบัติตัว หรือการรักษาวิธีธรรมดาไม่ได้ผล โดยจะช่วยขยายทางเดินหายใจผ่านแสงเลเซอร์ตกแต่งบริเวณเพดานอ่อนลิ้นไก่โคนลิ้น เยื่อบุจมูกให้มีขนาดพอเหมาะ ทำให้ลมหายใจเข้าออกดีขึ้นเพื่อลดการนอนกรน เมื่อผ่าตัดแล้วสามารถกลับบ้านได้ทันที แต่อาจมีอาการเจ็บแผล 1 สัปดาห์

คลื่นวิทยุรักษานอนกรนได้ (Radioferquency)

คลื่นวิทยุจะทำให้เนื้อเยื่อบริเวณเพดานอ่อน ลิ้นไก่ โคนลิ้น ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการสั่นเทือนเกิดการกระชับตัวและตึงตัวขึ้น ลดการนอนกรนลง เมื่อยังมีอาการนอนกรน สามารถรับการรักษาซ้ำ 2-3 ครั้ง ห่างกัน 1 เดือน เจ็บแผลเล็กน้อย 2-3 วัน ใช้เวลารักษา 15-20 นาที

การวางด้ายบริเวณเพดานอ่อน (Pillar Procedure)

ด้ายทำให้บริเวณเพดานอ่อนตึงตัวลดการสั่นสะเทือน ลดการนอนกรน ช่องคอโล่งขึ้นลดการหยุดหายใจขณะหลับ ใช้เวลารักษา 15-20 นาที เจ็บแผลเล็กน้อย 2-3 วัน

เครื่องซีแพพ CPAP(Continuous positive airway pressure)

เป็นเครื่องผลิตแรงดันอากาศให้เพียงพอในการเปิดทางเดินหายใจในขณะหายใจเข้า โดยส่งอากาศเข้าสู่ทางเดินหายใจผ่านทางหน้ากากครอบจมูก

ประโยชน์ของ CPAP นอกจากขจัดปัญหาการขาดลมหายใจ ทำให้ร่างกายไม่ขาดออกซิเจน และมีคุณภาพการนอนดีขึ้น ยังช่วยลดปัญหาความง่วงนอนช่วงกลางวัน ลดอุบัติเหตุ และทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นในทุกด้าน นอกจากนั้นยังลดปัญหาสืบเนื่องในระยะยาวจากการขาดอากาศเป็นระยะ ได้แก่ ความดันโลหิตสูง โรคเส้นเลือดตีบในสมอง และโรคหัวใจ รวมทั้งโรคเบาหวาน

เครื่อง CPAP มีประสิทธิภาพเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ในการรักษาปัญหาการขาดลมหายใจ แต่มีปัจจัยอื่นที่ทำให้ประสิทธิภาพลดลง เช่น ความร่วมมือในการใช้เครื่องของผู้ป่วย การเล็ดลอดของอากาศระหว่างการใช้ ความสะดวกของการใช้ ผลข้างเคียงของเครื่อง เช่น จมูกแห้ง การกดทับ ซึ่งแก้ปัญหาได้โดยการใช้เครื่องให้ความชื้น (Humidifier ) และ การสวมหน้ากากอย่างถูกวิธี รวมถึงการเลือกใช้หน้ากากที่เหมาะสมกับสรีระของใบหน้าผู้ใช้

การนอนกรนส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไร
การนอนกรน ก่อปัญหาให้ทั้งผู้ที่มีอาการ และผู้ที่อยู่ใกล้ชิด คนนอนกรนเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลาย ๆ โรค เช่น โรคความดันโลหิต โรคหัวใจ โรคสมอง โรคอัมพฤกษ์อัมพาต โรคสมรรถภาพทางเพศเสื่อม โรคเบาหวาน โรคความจำเสื่อมถอย หลับในง่าย ปวดศีรษะตอนเช้า และขี้เซามากกว่าคนปกติ 2-3 เท่า ทำให้คนข้างเคียงนอนไม่หลับ หลับไม่สนิท เมื่อตื่นขึ้นมาก็รู้สึกอ่อนเพลีย หงุดหงิดง่าย ง่วงนอนบ่อย ๆ เหมือนคนอดนอน การนอนกรนนั้นส่งผลเสียต่อทั้งสุขภาพของตนเองและผู้อื่น ทำให้คนข้างเคียงหลับยาก ก่อความรำคาญ หลับไม่เป็นสุข


ข้อมูลจาก:ศูนย์โรคระบบการหายใจ รพ.วิภาวดี