Thursday, December 27, 2007

วันนี้"โรคอ้วน"มาเยือนท่านแล้วหรือยัง

โรคอ้วน :



คงไม่ต้องคิดมาก ว่าทำไมจึงอ้วน เพราะส่วนใหญ่การที่คนใดคนหนึ่งจะอ้วน แสดงว่าคนนั้นได้รับประทานอาหารเข้าไปมากกว่าที่ร่างกายจะใช้หมด จึงมีการสะสมสิ่งที่เหลือเป็นไขมันอยู่ตามร่างกาย จนกลายเป็นโรคอ้วน

สาเหตุของโรคอ้วน
1.การรับประทานอาหาร หากรับประทานอาหารที่ให้พลังงานสูงเป็นประจำจะให้น้ำหนักเกิน
2.โรคต่อมไร้ท่อ เช่นต่อมธัยรอยด์ทำงานน้อยจะมีน้ำหนักเกินเนื่องจากร่างกายเผาผลาญอาหารน้อยลง โรค cushing ร่างกาย7.สร้างฮอร์โมน cortisol มากทำให้ร่างกายมีการสะสมไขมัน ฮอร์โมนนี้อาจจะมาจากร่างกายสร้างเอง หรือจากลูกกลอน ยาแก้หอบ ยาชุด หรือร่างกายสร้างขึ้นเนื่องจากเนื้องอกต่อมหมวกไต
3.ยา ยาบางชนิดทำให้ความอยากอาหารเพิ่ม เช่นยาคุมกำเนิด ยาแก้โรคซึมเศร้า tricyclic antidepressant,phenothiazine ยาลดความดัน beta-block
4.กรรมพันธุ์ จะพบว่าบางครอบครัวจะอ้วนทั้งหมดซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากพันธุกรรม แต่อีกส่วนหนึ่งอาจจะเกิดจากวัฒนธรรมการรับประทานอาหารและความเป็นอยู่
5.วัฒนธรรมการดำรงชีวิตและอาหารซึ่งเห็นได้ว่าบางชาติจะมีน้ำหนักเกินเนื่องจากอาหารของชาตินั้นนิยมอาหารมันๆ
6.ความผิดปกติทางจิตใจทำให้รับประทานอาหารมาก เช่นบางคนเศร้าแล้วรับประทานอาหารเก่ง
7.การดำเนินชีวิตอย่างสบาย มีเครื่องอำนวยความสะดวกมากมาย และขาดการออกกำลังกาย มีรถยนต์ มีเครื่องทุ่นแรง มีทีวีรายการดีๆให้ดู มีสื่อโฆษณาถึงน้ำหวาน น้ำอัดลม เหล่านี้เป็นปัจจัยเสี่ยงโรคอ้วนตั้งแต่ในวัยเด็ก รวมถึงการดื่มเหล้าและสูบบุหรี่


โรคอ้วนเสี่ยงต่อโรคใดบ้าง
- โรคความดันโลหิตสูง
- โรคหัวใจขาดเลือด
- โรคคอเลสเตอรอลสูงในเลือด
- โรคไตรกลีเซอไรด์สูงในเลือด
- โรคเบาหวาน
- โรคนิ่วในถุงน้ำดี
- กระดูกและข้อเสื่อมเร็วกว่าคนปกติ
- ระบบทางเดินหายใจทำงานไม่สะดวก
- โรคที่เกี่ยวกับปัญหาด้านจิตใจ

วิธีลดน้ำหนัก

1. รับประทานอาหารให้น้อยกว่าที่ร่างกายต้องการใช้ในแต่ละวัน หมายถึงกิจกรรมแต่ละวันเหมือนเดิม แต่รับประทานให้น้อยลงท่านต้องพยายามตั้งเป้าหมายในการลดน้ำหนักเอาไว้
น้ำอัดลมที่รับประทานประจำก็เปลี่ยนเป็นน้ำเปล่า ขนมหวานก็เปลี่ยนเป็นผลไม้ที่ไม่หวานจัด ไม่รับประทานของจุกจิกระหว่างมื้อ การรับประทานแต่ละคำพยายามเคี้ยวให้ละเอียด อย่ารับประทานคำใหญ่ๆ และด้วยความรวดเร็ว



2. ออกกำลังกายเพื่อใช้พลังงานให้มากกว่าที่เข้าไปแต่ละวัน หมายถึงรับประทานอาหารเท่าเดิมแต่ออกกำลังกายให้มากขึ้น



การลดน้ำหนักของท่านอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดๆ ก็ตาม จะเป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น เพราะโปรแกรมการลดน้ำหนักอย่างรวดเร็ว ส่วนใหญ่มักจะลดในส่วนที่เป็นน้ำภายในร่างกาย และการจำกัดอาหารบางครั้งทำให้ขาดสารอาหารที่จำเป็นพวกวิตามิน หรือโปรตีนที่จำเป็น ตลอดจนหากออกกำลังกายอย่างมาก เพื่อพยายามลดน้ำหนักให้เต็มที่อย่างรวดเร็ว จะไม่อยู่ในวิสัยของคนทั่วไปที่จะทำได้ตลอดไป ดังนั้น น้ำหนักก็จะกลับขึ้นมาอีกหลังจากหมดโปรแกรมนั้นๆ แล้ว



วันนี้ขอแนะนำการรับประทานอาหารแบบเน้นโปรตีน (High-protein diet)
เป็นที่รู้จักมานานแล้ว ในแวดวงนักกีฬาและการเพาะกาย ก่อนที่คนทั่วไปจะรู้จักในชื่อของ ดร. แอตกิน (Atkin) ว่าการทานอาหารแบบนี้ไม่เพียงจะช่วยในการเสริมสร้างกล้ามเนื้อ แต่ยังช่วยลดสัดส่วนไขมันของร่างกายด้วย
ยังช่วยลดความอยากอาหาร ส่งผลให้เราได้รับปริมาณแคลอรีลดลง

โปรตีนจะช่วยกระตุ้นระบบการทำงานในร่างกายให้เพิ่มการผลิตกลูโคส จากนั้นกลูโคสจะเดินทางไปที่ตับ และกระตุ้นให้ร่างกายรู้สึกอิ่ม ก่อนจะส่งสัญญาณไปยังสมองว่าหยุดทานอาหารได้แล้ว

ใครที่กำลังอยากลดน้ำหนักหรือความอ้วน ลองเอาวิธีทานอาหารแบบเน้นโปรตีนไปใช้ดูซิคะอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่อาจจะได้ผลโดยไม่ต้องลดหรืออดอาหารจนหน้าเหี่ยว หรือไม่อยากเป็นคนอ้วนเหมือนรูปข้างล่างนี้ต้องรีบปฏิวัติตัวเองโดยด่วน!!!

Wednesday, December 26, 2007

มารู้จักโรคตับอักเสบบีกันเถอะ

วันนี้มีความรู้เรื่องโรคตับอักเสบบีที่พบกันบ่อยบางคนอาจสงสัยว่าโรคนี้ติดต่อกันได้อย่างไรมีอาการแสดงของโรคแบบไหนตลอดจนการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องเมื่อเป็นโรคแล้วอย่างไรก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับโรคนี้กันก่อนนะคะ


ตับอักเสบบี คือ การอักเสบของเซลล์ตับอันเกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ (HBV) การอักเสบจะทำให้เซลล์ตับตาย หากเป็นเรื้อรังจะเกิดผังผืด ตับแข็งและมะเร็งตับได้




ไวรัสตับอักเสบบี มีความสำคัญกับเราหรือไม่

ไวรัสตับอักเสบ บี เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญปัญหาหนึ่งของประเทศไทย ่โรคนี้เมื่อเป็นแล้วก่อให้เกิดอันตรายที่สำคัญตามมาได้แก่ ตับอักเสบเรื้อรัง โรคตับอักเสบเรื้อรัง โรคตับแข็ง และโรคมะเร็งของตับ พวกที่เป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบ บี มีโอกาสเป็นมะเร็งตับมากกว่าพวกที่ไม่ได้เป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบ บี ถึง 223 เท่า อัตราความชุกในประชาชนทั่วไปประมาณร้อยละ 8-10 คนที่เป็นพาหะของโรคไวรัสตับอักเสบ บี มีประมาณ 5 ล้านคนในประเทศไทย สำหรับผู้ที่เป็นพาหะของโรค โอกาสที่จะกำจัดเชื้อไวรัสตับอักเสบให้หมดไปมีน้อย พบร้อยละ 1-2 ต่อปี โรคตับอักเสบจากเชื้อไวรัสชนิดบี นับเป็นปัญหาสาธารณสุขที่น่าวิตก ทำให้เกิดการเจ็บป่วย พิการ และเสียชีวิตได้ ซึ่งนับว่าเป็นปัญหาเร่งด่วนที่จะต้องหาวิธีการควบคุมและป้องกันที่เหมาะสม

ไวรัสตับอักเสบ ติดต่อกันอย่างไร

การติดต่อของโรคนี้ติดต่อกันได้ ที่สำคัญมี 4 ทาง คือ

1. ติดต่อทางเลือด โดยได้รับเชื้อจากการได้รับเลือดจากผู้ที่เป็นโรคนี้ ปัจจุบันเราพบการติดต่อทางนี้น้อยลง เพราะเรามีการตรวจเลือดก่อนที่จะนำมาให้คนไข้



2. ติดต่อทางน้ำลาย การรับประทานอาหารร่วมกับคนที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี มีโอกาสจะติดต่อกันได้ง่าย เพราะการรับประทานอาหารของคนไทยมักจะลืมใช้ช้อนกลาง ทำให้มีโอกาสติดโรคนี้ได้ง่าย



3.ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับคนที่เป็นโรคนี้ มีโอกาสจะติดโรคนี้ได้ โดยไม่ได้ป้องกัน ซึ่งไวรัสตับอักเสบบีสามารถติดต่อได้ง่ายกว่าเชื้อไวรัสเอดส์ การสัก เจาะหู หรือการฝังเข็ม โดยอุปกรณ์ที่ผ่านการฆ่าเชื้อไม่ถูกต้อง การได้รับเลือดและส่วนประกอบของเลือดที่ไม่จำเป็นก็อาจเป็นสาเหตุได้แต่พบได้น้อยมากในการตรวจกรองของธนาคารเลือดในปัจจุบัน



4. ติดต่อจากมารดาสู่บุตร การติดต่อนี้จะมีโอกาสสูงที่จะติดเชื้อได้ในระหว่างคลอด จึงควรมีการตรวจเลือดมารดาในตอนที่ฝากครรภ์ ถ้าพบว่ามารดามีเชื้อโรคนี้อยู่ ควรให้วัคซีนแต่ทารกตั้งแต่แรกเกิด เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นโรคนี้ได้เกือบร้อยละ100



อาการของโรคแบ่งเป็น3ระยะ
1. ตับอักเสบเฉียบพลับ
ในประเทศไทยผู้ป่วยตับอักเสบเฉียบพลันราว 1/3 เกิดจากไวรัสตับอักเสบบี ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการอ่อนเพลียเบื่ออาหารตามด้วยคลื่นไส้อาเจียน จุกแน่นชายโครงขวา จากตับที่โตแล้วจึงสังเกตว่าปัสสาวะเข้ม ตาเหลืองในผู้ป่วยตับอักเสบเฉียบพลันจากไวรัสตับอักเสบบี ร้อยละ 90-95 จะหายเป็นปกติพร้อมกับร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสตับอักเสบ บี มีเพียงร้อยละ 5-10 เท่านั้น ที่ไม่สามารถกำจัดไวรัสออกไปจากร่างกายได้เป็นตับอักเสบเรื้อรังและน้อยกว่าร้อยละ 1 อาจเกิดอาการตับวายได้
2.ตับอักเสบเรื้อรัง
ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการ อาจตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจร่างกายประจำปี พบความผิดปกติในการทำงานของตับ ผู้ป่วยตับอักเสบเรื้อรังที่มีการอักเสบและการทำลายเซลล์ตับมากๆ โรคจะดำเนินต่อไปทำให้ตับเสื่อมสมรรถภาพลง จนกลายเป็นตับแข็งในที่สุด

3.ตับแข็ง
ซึ่งมักมาพบแพทย์จากอาการแทรกซ้อน เช่น เท้าบวม ท้องบวม อาเจียนเป็นเลือด หรืออาจกลายเป็นมะเร็งตับ



การวินิจฉัยโรค

การวินิจฉัยโรคตับอักเสบจากไวรัสตับอักเสบ บี สามารถกระทำได้โดย

1. การตรวจการทำงานของตับโดยการหาเอ็นไซม์ที่ปล่อยออกมาจากเซลล์ตับที่อักเสบ คือ SGOT (AST) และ SGPT (ALT) ปกติระดับเอ็นไซม์สองตัวนี้จะน้อยกว่า 40 ถ้าสูงผิดปกติบ่งบอกถึงการอักเสบของตับ


2. การตรวจหาหลักฐานการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี
ซึ่งมีการตรวจทั้งการหาแอนติเจนของไวรัส และการตรวจทางน้ำเหลืองซึ่งถ้าให้ผลบวกแสดงถึงการติดเชื้อที่มีการแบ่งตัวของไวรัสอย่างรวดเร็วมีปริมาณไวรัสมาก นอกจากนี้อาจมีการตรวจหาไวรัสด้วยวิธีอื่น เช่น การตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสในเลือด ซึ่งให้ผลแม่นยำกว่า และสามารถบอกปริมาณจากไวรัสได้

3. การตรวจพยาธิสภาพของตับโดยการใช้เข็มเล็กๆ เจาะดูดเอาเนื้อตับชิ้นเล็กๆ ออกมาตรวจ การตรวจนี้จะมี ประโยชน์มาก ในการประเมินความรุนแรงของตับอักเสบ เพื่อประโยชน์ในการรักษาและการพยากรณ์โรค

4. การตรวจทางรังสีวิทยา
เช่น การตรวจด้วยคลื่นเสียง (Ultrasound) หรือการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ อาจ ได้ประโยชน์ในการประเมินว่ามีตับแข็งหรือก้อนผิดปกติในตับหรือไม่

การรักษาและการปฏิบัติตัว

1. ผู้ป่วยที่มีอาการการแก้ตับอักเสบเฉียบพลัน จะค่อย ๆ ทุเลาขึ้นเองเมื่อพักผ่อนและรับประทานอาหารให้พอเพียง ผู้ป่วยบางรายเข้าใจว่าการดื่มน้ำหวานในปริมาณมาก ๆจะช่วยให้อาการดีขึ้นได้ ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะน้ำตาลจะไปเปลี่ยนเป็นไขมันสะสมในตับ และอาจทำให้ตับโตจุกแน่นกว่าปกติ



2. ส่วนมากผู้ป่วยที่มีอาการตับอักเสบเรื้อรังจะไม่แสดงอาการ แพทย์จะใช้อินเตอร์เฟอรอน (Interferon) ซึ่งเป็นยาฉีด โดยใช้ติดต่อกันอย่างน้อย 4 - 6 เดือนจึงจะเริ่มเห็นผล นอกจากนั้นอาจใช้ยารับประทาน ลามิวูดีน มีผลข้างเคียงน้อยกว่า อย่างไรก็ตามการรับประทานยานานๆ อาจมีโอกาสทำให้เกิดเชื้อดื้อยาได้และที่สำคัญคือทั้งยารักษาอินเตอร์เฟอรอน และลามิวูดีนใช้ไม่ได้ผลในผู้ป่วยที่การทำงาน ของตับเป็นปกติหรือกลุ่มพาหะ




3. ผู้ป่วยควรงดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด ทั้งในตับอักเสบเฉียบพลัน และเรื้อรังพบว่าการดื่มสุราทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้น ในตับอักเสบเรื้อรังยังทำให้ตับเสื่อมสมรรถภาพจนเป็นตับแข็ง และมะเร็งตับเร็วขึ้น
หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ไม่จำเป็น เพราะยาเกือบทุกตัวจะถูกทำลายที่ตับ การใช้ยา ต่างๆ จึงควรระมัดระวังและควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยว่าเป็นตับอักเสบอยู่ด้วย การใช้ยาสมุนไพร หรือยาสามัญประจำบ้านต่างๆ อาจทำให้โรคลดลงได้
หมั่นตรวจสุขภาพสม่ำเสมอ แม้แต่ในผู้ป่วยที่เป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบบี ก็ควรได้รับการตรวจเป็นระยะ ๆอย่างน้อยทุก 4-6 เดือน เพราะบางครั้งจะมีการอักเสบเกิดขึ้นได้ ในผู้ป่วยที่เป็นชาย อายุมากหรือมีตับแข็งร่วมด้วย ควรติดตามเป็นระยะๆ เพื่อตรวจหามะเร็งตับระยะแรกเริ่มต้น และต้องออกกำลังกายด้วย
สิ่งสำคัญที่ควรทราบก็คือ การรับประทานยาคุมกำเนิดจะ ไม่ส่งผลกระทบต่ออาการของโรค และผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบ บี สามารถตั้งครรภ์ได้



ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ บี ทั้งที่ทำจากเลือดและผลิตโดยกรรมวิธีพันธุวิศวกรรม โดยฉีดวัคซีน 3 เข็ม เข้ากล้ามเนื้อบริเวณต้นแขน โดยมีระยะห่างระหว่างเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 ประมาณ 1 เดือน ส่วนเข็มที่ 3 ควรห่างจากเข็มแรก 6 เดือน ซึ่งวิธีนี้ได้รับความนิยมมากกว่า ผู้ที่มีภูมิคุ้มกับปกติจะเกิดภูมิต้านทานสูงถึงร้อยละ 90 - 95 หากฉีดครบแล้วไม่มีความจำเป็นต้องฉีดกระตุ้นอีก เพราะเชื่อว่ามีภูมิต้านทานตลอดชีวิต
ตอนนี้ใกล้ปีใหม่แล้วขอให้ทุกท่านมีความสุขและสุขภาพแข็งแรงสวัสดีปีใหม่ค่ะ