Saturday, May 24, 2008

โรคจิตเภท



เรื่องของคุณ “ บุญรอด”

เมื่ออาทิตย์ที่แล้วได้ย้ายแผนกที่ทำงานไปอยู่ที่แผนกผู้ป่วยนอก(OPD)
เริ่มงานวันแรกด้วยความขลุกขลักเล็กน้อยเพราะเป็นงานใหม่ที่ไม่คุ้นเคย
ขณะที่นั่งซักประวัติตรวจร่างกายอยู่นั้นก็มีคนไข้รายหนึ่ง
เดินเข้ามานั่งที่เก้าอี้พอเราเริ่มซักประวัติ
ิเขาก็เริ่มเล่าอาการของเขาว่า

เมื่อคืนนี้บุญรอด มีอาการเครียด นอนไม่หลับ จะมีเสียงที่คอยสั่งให้
ให้ไปเสพยาเสพติดแต่อีกใจหนึ่งก็บอกว่าอย่าไปยุ่ง กระสับกระส่ายนอนไม่นอน ไม่สบายใจ”


เราเริ่มมีต่อมเอ๊ะ!.. คนไข้คนนี้ต้องมีอาการทางจิตแน่นอน..ชัวร์

ใช่เลย!! คนไข้จิตเวช แบบจิตเภท( Schizophrenia )

คนไข้รายนี้..
จากการสอบถามน้องๆเขาเล่าว่าจะมาโรงพยาบาลทุกวัน
วันละหลายรอบ บางวัน3-4ครั้งก็มี ถ้าเครียดมาก..
เจ้าหน้าที่และแพทย์เข้าใจปัญหาของเขาที่มีปัญหาทางจิต
และเราเป็นเจ้าหน้าที่ใหม่ที่คนไข้ไม่เคยเห็นหน้ามาก่อน
ทุกวันเขาจะมานั่งรอตรวจและนั่งยิ้มหวานให้พยาบาล…
บางวันก็แซวเขาบ้าง.."วันนี้มาแต่เช้าเลยนะคะ"
ก็ทำให้บรรยากาศในการทำงานไม่เครียด
เลยเก็บเอามาเล่าให้ฟัง เพราะเป็นความน่ารักอีกรูปแบบหนึ่ง
และเรามาทำความรู้จักโรคจิตเภทนี้กันดีกว่านะคะ.

โรคจิตเภท : คือ โรคจิตชนิดหนึ่ง ซึ่งมีความผิดปกติของความคิดเป็นลักษณะเด่น ซึ่งมักจะปรากฏอาการครั้งแรกในช่วงวัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่ตอนต้น

การวินิจฉัยโรค : จะได้จากการซักประวัติ การตรวจสภาพจิต การสังเกต รวมทั้งการตรวจด้วยแบบทดสอบทางจิตวิทยา

อาการของโรคจิตเภท มีหลายแบบด้วยกัน เช่น

*อาการผิดปกติทางความคิด

มีความคิดที่ไม่ปะติดปะต่อ ไม่ต่อเนื่องกัน ซึ่งมีผลให้ผู้ป่วยพูดผิดปกติได้ เช่น พูดไม่เป็นเรื่องเป็นราว เปลี่ยนเรื่องพูดโดยไม่มีเหตุผล

*อาการหลงผิด

คือมีความเชื่อที่ผิดๆ เชื่อในเรื่องที่ไม่เป็นจริง โดยไม่สามารถใช้เหตุผลใดๆ แก้ไขความเชื่อหลงผิดนี้ได้ เช่น หวาดระแวงกลัวถูกทำร้าย หลงผิดคิดว่าตนเองเป็นทหารไปออกรบมา

อาการประสาทหลอน

อาจมีประสาทหลอนทาง หู ตา จมูก ลิ้น หรือสัมผัสทางกาย เช่น ได้ยินเสียงคนพูดวิพากษ์วิจารณ์ตนเอง ซึ่งผู้ป่วยได้ยินเพียงคนเดียว หรือมีอาการอื่นๆ เช่น ยิ้ม หัวเราะคนเดียว

สาเหตุ

สาเหตุของโรคยังไม่พบแน่ชัด แต่มีปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ด้านร่างกาย ด้านจิตใจ ด้านสังคม และความผิดปกติของสารสื่อนำประสาทบางอย่างในสมองร่วมด้วย ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานที่ยืนยันว่าโรคจิตเภทถ่ายทอดทางพันธุกรรม แต่พบว่าลูกของผู้ป่วยมีโอกาสเป็นโรคนี้สูงกว่าคนทั่วๆ ไป

การรักษา

รักษาด้วยการให้ยา และให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่สงบ เช่น รับไว้ในโรงพยาบาล จนกว่าอาการจะดีขึ้น การรักษาด้วยไฟฟ้า การทำจิตบำบัด รวมทั้งการฟื้นฟูสภาพทางจิตและสังคม

ในปัจจุบันเราจะพบปัญหาทางจิตเวชนี้มากขึ้น จะเห็นได้ว่าญาติบางคนยังไม่เข้าใจในตัวผู้ป่วยเพียงพอ จึงทำให้ผู้ป่วยมีอาการกำเริบ เราควรหันมาให้ความสนใจและให้โอกาสกับผู้ป่วยเหล่านี้ ครอบครัวสามารถช่วยได้โดยให้กำลังใจ ให้คำปรึกษาและร่วมมือในการรักษาตามคำแนะนำของแพทย์ จะช่วยให้อาการดีขึ้นและควบคุมอาการไม่ให้กลับเป็นใหม่ได้ และกลับคืนสู่สังคมได้เร็วขึ้น......

No comments: